วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

ครั้งแรกที่ได้มา “หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ”

                หัวข้องานวิจัยประวัติศาสตร์ของรายวิชา SS 253 ของผมได้ศึกษาเกี่ยวกับความสำคัญของวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ต่อชุมชนมิตตคาม ซึ่งเนื้อหาของวิจัยจำเป็นที่จะต้องใช้เอกสารที่บาทหลวงชาวฝรั่งเศสได้บันทึกไว้ ถ้าจะไปหาในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยก็คงจะไม่มีแน่นอน เพราะเท่าที่ผมสามารถสืบค้นในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยมีแต่เป็นหนังสือที่รวบรวมเกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเสียมากกว่า และมีอยู่เพียงไม่กี่เล่มด้วยเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับศาสนาอื่นๆที่มีมากมายหลายเล่มให้เลือกอ่าน
                ผมจึงพยายามค้นคว้าหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูลมาทำวิจัย ซึ่งข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก็มีน้อยมากๆ อาจจะเพราะว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาเผยแพร่เท่าไหร่นัก ทำให้หาข้อมูลได้ยาก และขณะที่ผมกำลังหาข้อมูลอยู่ ผมได้ไปเจอข้อมูลที่ผมต้องการอยู่ในเว็บไซต์ของหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผมสามารถนำไปใช้กับวิจัยของผมได้แต่ก็ไม่เยอะมากนัก แต่การที่ผมค้นพบหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เป็นเหมือนกับแสงสว่างที่ส่องนำทางให้กับผม แม้จะเป็นแค่แสงไฟดวงเล็กๆแต่ก็มากพอที่จะให้ผมคลำทางเดินต่อไปได้
                ผมจึงไปศึกษากฎระเบียบการขอค้นเอกสารของหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ภายในเว็บไซต์ สำหรับผู้ที่จะขอค้นเอกสารต้องแจ้งเอกสารที่จะใช้กับเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า
1 วัน เพื่อให้เวลาเจ้าหน้าที่ค้นหาเอกสารที่ผู้มาค้นคว้าจะใช้
                สำหรับประวัติของหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.
2531 คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้จัดการหอจดหมายเหตุ มีความประสงค์ที่จะสืบค้นหาข้อมูลสำหรับเขียนงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ โดยที่รับคำแนะนำจากบาทหลวงคณะ M.E.P. ที่ฝรั่งเศสว่ามีข้อมูลที่คุณพ่อต้องการจะใช้อยู่ที่สำนักพระสังฆราชแห่งกรุงเทพฯ คุณพ่อจึงถามเรื่องเอกสารเก่าๆ ของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯจากพระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู ตั้งแต่วันแรกที่พบกับพระคาร์ดินัล พระคาร์ดินัลก็ได้ชี้แจงว่าเอกสารนั้นคงมีอยู่ 2 แห่ง ที่น่าจะเป็นได้ ก็คือ 1. ที่ตึกพระสังฆราช 2.  ที่ตึกโรงพิมพ์อัสสัมชัญ 


                คุณพ่อพบว่ามีเอกสารจำนวนมากมายที่ต้องการอยู่ที่ตึกโรงพิมพ์อัสสัมชัญ ชั้นที่
2 ไปปรึกษากับคุณพ่อวรยุทธ กิจบำรุง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการและเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ในขณะนั้น คุณพ่อวรยุทธเองก็เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ เวลาเดียวกันก็เป็นผู้มองเห็นคุณค่าของเอกสาร มีความปรารถนาที่จะจัดทำมานานแล้ว แต่ด้วยเหตุผลหลายประการไม่สามารถจัดทำได้ ทั้งสองท่านจึงปรึกษากันและตกลงว่าในระยะเวลาที่คุณพ่อสุรชัยอยู่ที่กรุงเทพฯ จะร่วมกันจัดทำขึ้นมา เอกสารที่พบเป็นเอกสารที่บันทึกโดย พระสังฆราช อุปสังฆราช หรือเลขาฯ พระสังฆราช เกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนาในดินแดนสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เอกสารเหล่านี้เก็บอยู่ในแฟ้มอย่างดี อยู่ในกล่องต่างๆ ที่แยกหมวดหมู่ไว้อย่างมีระเบียบรวมทั้งที่กองๆ กันไว้อยู่ในตู้ และในกล่องต่างๆ แต่เนื่องจากมิได้ถูกเก็บรักษาเพียงแต่ถูกทิ้งไว้ จึงทำให้เอกสารมากมายเสียหายไปมาก และได้เลือกสถานที่ที่จะเก็บเอกสารเหล่านี้ คือ ชั้นที่ 2 ของโรงพิมพ์อัสสัมชัญ ที่มีความสวยงามมาก ทั้งศิลปะ ในการก่อสร้าง รวมทั้งตู้ต่างๆ ที่ใช้และมีอยู่บนนี้ ก็เข้ากับลักษณะของห้องได้เป็นอย่างดี ประกอบกับมีห้องใหญ่ๆ อยู่หลายห้องโดยคุณพ่อพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถ ที่จะจัดเป็นห้องเก็บเอกสาร ห้องสมุด มีห้องโถงกลางนั้นจัดเป็นห้องอ่านหนังสือ
                ปัจจุบันหอจดหมายเหตุฯ ได้มีการพัฒนางาน ด้านการจัดเก็บข้อมูล งานซ่อมและอนุรักษ์เอกสารอย่างต่อเนื่อง หนังสือเก่ามีการ อบและห่อใหม่ ได้มีการจัดเก็บเอกสาร รูปภาพด้วยระบบดิจิตอล สำหรับผู้ต้องการเอกสารข้อมูลต่างๆ ปัจจุบันได้เปิดเว็บไซต์หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และได้มีการปรับปรุงหน้าที่/ตำแหน่งของเจ้าหน้าที่


               
                สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ มีดังต่อไปนี้
               
1. การเขียนประวัติวัดต่าง ๆ จะสมบูรณ์ขึ้น
                2. บันทึกจดหมายเหตุจะทำให้คุณพ่อเจ้าอาวาสเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ และทำให้การบริหารปกครองวัดเป็นไปได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น
                3. หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จะเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเรื่องราวต่าง ๆ ได้สมบูรณ์มากขึ้น
               
                สำหรับการเดินทางไปยังหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯสามารถเดินทางไปได้หลายเส้นทางไม่ว่าจะรถเมล์ รถไฟฟ้า BTS หรือแม้กระทั่งเรือด่วนเจ้าพระยาก็ไปได้ ผมไม่แน่ใจว่ารถเมล์สายอะไรผ่านซอยเจริญกรุง 40 เพราะไม่เคยนั่งรถเมล์ไปแถวนั้น ส่วนรถไฟฟ้า BTS เท่าที่ทราบต้องลงสถานีตากสินแล้วเดินย้อนมายังซอยเจริญกรุง 40 แต่ผมใช้บริการเรือด่วนเจ้าพระยาเพราะสะดวกที่สุดสำหรับผมเพราะผมสามารถขึ้นเรือที่ท่าพระราม 7 มาลงยังท่าโอเรียนเต็ล ใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที เพราะเรือด่วนที่จอดที่ท่าโอเรียนเต็ลมีแต่เรือที่ติดธงสีส้มเท่านั้น
                แน่นอนว่าหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯสามารถที่จะบูรณาการได้กับวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนจะสอนในระดับชั้นไหนขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียนว่าจะจัดสอนเนื้อหาที่มีในหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯตอนไหน 




การเรียนรู้ในด้านความรู้
                เอกสารที่อยู่ในหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯส่วนใหญ่เป็นบันทึกของบาทหลวงและคณะมิชชันนารี นอกจากนั้นยังมีเอกสารที่เป็นประวัติของวัดต่างๆในประเทศไทย รวมไปถึงเอกสารและหนังสือที่เกี่ยวข้องกับคาทอลิกในประเทศไทยทั้งหมด เอกสารเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในการสอนวิชาประวัติศาสตร์ได้เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ประวัติศาสตร์ที่เรารู้และศึกษากันอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มาจากการบันทึกของพ่อค้า ทูต บาทหลวง มิชชันนารี บันทึกของเหล่าบาทหลวงและมิชชันนารีในหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯล้วนแต่เป็นข้อมูลที่สามารถนำมาสอนได้ เพราะบาทหลวงเหล่านี้ได้บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ ความเป็นมา การใช้ชีวิตของคนไทย ซึ่งเป็นสิ่งคนไทยไม่นิยมที่จะบันทึกเก็บไว้ (อาจจะมีบันทึกแต่ถูกทำลายไปในช่วงเสียกรุงฯครั้งที่
2) คุณครูก็สามารถที่จะยกเนื้อหาที่อยู่ในบันทึกมาถ่ายทอดและสอนกับนักเรียนซึ่งนอกจากจะได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์แล้วยังได้รู้ทัศนะคติของชาวต่างชาติต่อคนไทยด้วย
การเรียนรู้ในด้านเจตคติ
                การที่เราศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านบันทึกของชาวต่างชาติ ทำให้เราได้รู้ถึงทัศนะของชาวต่างชาติที่มีต่อคนไทย และได้มุมมองของประวัติศาสตร์ที่เป็นกลางมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องปกติที่ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ย่อมที่จะเข้าข้างชาติของตนเอง แต่การที่มีชาวต่างชาติมาบันทึกประวัติศาสตร์นั้น จะทำให้ประวัติศาสตร์เป็นกลางมากยิ่งขึ้นแต่ก็ได้รับทัศนะและมุมมองของชาวต่างชาติเข้ามาด้วย ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมต่างๆของไทย จึงทำให้เขาตีความออกไปในอีกแง่มุม รวมไปถึงชาวต่างชาติคิดว่าตนมีอารยธรรมที่สูงส่งกว่าชาวตะวันออกมากจึงเป็นเรื่องปกติที่เขาจะดูถูกเหยียมหยามนิสัย วัฒนธรรม และศาสนา ซึ่งในบันทึกของเหล่าบาทหลวงและมิชชันนารีก็จะมีส่วนที่กล่าวว่าว่าพิธีต่างๆของศาสนาพุทธเป็นสิ่งที่ไร้สาระ งมงาย ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติเช่นกันที่มุมมองของคนพุทธอาจจะมองว่าพิธีกรรมของคนคริสต์ดูงมงาย จึงแสดงให้เห็นว่าคนเราต่างศาสนา ต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม ต้องรู้จักการปรับตัวเข้าหากัน ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และยอมรับในสิ่งที่แตกต่างของอีกฝ่าย
การเรียนรู้ในด้านกระบวนการต่างๆ
                กระบวนการที่ได้จากการไปหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯก็คือกระบวนสืบค้นข้อมูล แม้จะไม่ได้เป็นผู้สืบค้นข้อมูลโดยตรงแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะค้นคว้าหาเนื้อหาจากบันทึกต่างๆได้ รู้สึกว่ายากกว่าการสืบค้นข้อมูลในห้องสมุดเสียอีก กระบวนการต่อมาคือการทำงานร่วมกับผู้อื่น แม้จะไม่มากและไม่ใช่การทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยตรง แต่การที่จะบอกเอกสารที่เราต้องการให้เจ้าหน้าที่เข้าใจก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเอกสารมีบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงปัจจุบันซึ่งต้องไล่ปีให้ดีๆถึงจะพบข้อมูลที่ต้องการ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานร่วมกันแบบเล็กๆน้อยๆ




                ด้วยความที่ไม่เคยไปละแวกนั้นมาก่อนทำให้หวั่นใจว่าจะไปถูกไหม แต่เมื่อได้สอบถามทางไปจากหลายๆคนแล้วรวมถึงจากเจ้าหน้าที่ของหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯแล้ว เมื่อได้ไปเองก็รู้ว่าไม่ยากเหมือนอย่างที่คิดไว้ เมื่อไปถึงก็เห็นความสวยงามของวิหารอัสสัมชัญที่เป็นแหล่งศูนย์กลางของคาทอลิกในประเทศไทย มีโรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา และอัสสัมชัญคอนแวนต์ เมื่อได้เข้ามาที่นี่ราวกับว่าได้อยู่ในดินแดนของพระเจ้าเลยทีเดียว สภาพของหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯยังคงเป็นไม้อยู่ เมื่อเข้าไปนั่งค้นคว้าในหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯแล้วเหมือนกับได้ตัวเองได้ย้อนกลับไปอยู่ในสมัยเมื่อ
100 ปีที่แล้ว
                หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯถือว่ามีประโยชน์มาก เพราะที่นี่มีบุคคลทั้งที่เป็นนิสิต นักศึกษา อาจารย์ ครู บุคคลทั่วไป และชาวต่างชาติคอยวนเวียนกันมาค้นคว้าเอกสารอยู่ประจำไม่ขาดสาย ที่นี่จึงเป็นแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ และเชื่อว่าอนาคตหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯจะสามารถเปิดให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบเหมือนกับหอสมุดแห่งชาติ เพื่อความสะดวกต่อการค้นคว้าหาข้อมูลมากยิ่งขึ้น


ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : http://haab.catholic.or.th/web/