วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

ครั้งแรกที่ได้มา “หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ”

                หัวข้องานวิจัยประวัติศาสตร์ของรายวิชา SS 253 ของผมได้ศึกษาเกี่ยวกับความสำคัญของวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ต่อชุมชนมิตตคาม ซึ่งเนื้อหาของวิจัยจำเป็นที่จะต้องใช้เอกสารที่บาทหลวงชาวฝรั่งเศสได้บันทึกไว้ ถ้าจะไปหาในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยก็คงจะไม่มีแน่นอน เพราะเท่าที่ผมสามารถสืบค้นในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยมีแต่เป็นหนังสือที่รวบรวมเกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเสียมากกว่า และมีอยู่เพียงไม่กี่เล่มด้วยเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับศาสนาอื่นๆที่มีมากมายหลายเล่มให้เลือกอ่าน
                ผมจึงพยายามค้นคว้าหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูลมาทำวิจัย ซึ่งข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก็มีน้อยมากๆ อาจจะเพราะว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาเผยแพร่เท่าไหร่นัก ทำให้หาข้อมูลได้ยาก และขณะที่ผมกำลังหาข้อมูลอยู่ ผมได้ไปเจอข้อมูลที่ผมต้องการอยู่ในเว็บไซต์ของหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผมสามารถนำไปใช้กับวิจัยของผมได้แต่ก็ไม่เยอะมากนัก แต่การที่ผมค้นพบหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เป็นเหมือนกับแสงสว่างที่ส่องนำทางให้กับผม แม้จะเป็นแค่แสงไฟดวงเล็กๆแต่ก็มากพอที่จะให้ผมคลำทางเดินต่อไปได้
                ผมจึงไปศึกษากฎระเบียบการขอค้นเอกสารของหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ภายในเว็บไซต์ สำหรับผู้ที่จะขอค้นเอกสารต้องแจ้งเอกสารที่จะใช้กับเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า
1 วัน เพื่อให้เวลาเจ้าหน้าที่ค้นหาเอกสารที่ผู้มาค้นคว้าจะใช้
                สำหรับประวัติของหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.
2531 คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้จัดการหอจดหมายเหตุ มีความประสงค์ที่จะสืบค้นหาข้อมูลสำหรับเขียนงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ โดยที่รับคำแนะนำจากบาทหลวงคณะ M.E.P. ที่ฝรั่งเศสว่ามีข้อมูลที่คุณพ่อต้องการจะใช้อยู่ที่สำนักพระสังฆราชแห่งกรุงเทพฯ คุณพ่อจึงถามเรื่องเอกสารเก่าๆ ของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯจากพระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู ตั้งแต่วันแรกที่พบกับพระคาร์ดินัล พระคาร์ดินัลก็ได้ชี้แจงว่าเอกสารนั้นคงมีอยู่ 2 แห่ง ที่น่าจะเป็นได้ ก็คือ 1. ที่ตึกพระสังฆราช 2.  ที่ตึกโรงพิมพ์อัสสัมชัญ 


                คุณพ่อพบว่ามีเอกสารจำนวนมากมายที่ต้องการอยู่ที่ตึกโรงพิมพ์อัสสัมชัญ ชั้นที่
2 ไปปรึกษากับคุณพ่อวรยุทธ กิจบำรุง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการและเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ในขณะนั้น คุณพ่อวรยุทธเองก็เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ เวลาเดียวกันก็เป็นผู้มองเห็นคุณค่าของเอกสาร มีความปรารถนาที่จะจัดทำมานานแล้ว แต่ด้วยเหตุผลหลายประการไม่สามารถจัดทำได้ ทั้งสองท่านจึงปรึกษากันและตกลงว่าในระยะเวลาที่คุณพ่อสุรชัยอยู่ที่กรุงเทพฯ จะร่วมกันจัดทำขึ้นมา เอกสารที่พบเป็นเอกสารที่บันทึกโดย พระสังฆราช อุปสังฆราช หรือเลขาฯ พระสังฆราช เกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนาในดินแดนสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เอกสารเหล่านี้เก็บอยู่ในแฟ้มอย่างดี อยู่ในกล่องต่างๆ ที่แยกหมวดหมู่ไว้อย่างมีระเบียบรวมทั้งที่กองๆ กันไว้อยู่ในตู้ และในกล่องต่างๆ แต่เนื่องจากมิได้ถูกเก็บรักษาเพียงแต่ถูกทิ้งไว้ จึงทำให้เอกสารมากมายเสียหายไปมาก และได้เลือกสถานที่ที่จะเก็บเอกสารเหล่านี้ คือ ชั้นที่ 2 ของโรงพิมพ์อัสสัมชัญ ที่มีความสวยงามมาก ทั้งศิลปะ ในการก่อสร้าง รวมทั้งตู้ต่างๆ ที่ใช้และมีอยู่บนนี้ ก็เข้ากับลักษณะของห้องได้เป็นอย่างดี ประกอบกับมีห้องใหญ่ๆ อยู่หลายห้องโดยคุณพ่อพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถ ที่จะจัดเป็นห้องเก็บเอกสาร ห้องสมุด มีห้องโถงกลางนั้นจัดเป็นห้องอ่านหนังสือ
                ปัจจุบันหอจดหมายเหตุฯ ได้มีการพัฒนางาน ด้านการจัดเก็บข้อมูล งานซ่อมและอนุรักษ์เอกสารอย่างต่อเนื่อง หนังสือเก่ามีการ อบและห่อใหม่ ได้มีการจัดเก็บเอกสาร รูปภาพด้วยระบบดิจิตอล สำหรับผู้ต้องการเอกสารข้อมูลต่างๆ ปัจจุบันได้เปิดเว็บไซต์หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และได้มีการปรับปรุงหน้าที่/ตำแหน่งของเจ้าหน้าที่


               
                สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ มีดังต่อไปนี้
               
1. การเขียนประวัติวัดต่าง ๆ จะสมบูรณ์ขึ้น
                2. บันทึกจดหมายเหตุจะทำให้คุณพ่อเจ้าอาวาสเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ และทำให้การบริหารปกครองวัดเป็นไปได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น
                3. หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จะเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเรื่องราวต่าง ๆ ได้สมบูรณ์มากขึ้น
               
                สำหรับการเดินทางไปยังหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯสามารถเดินทางไปได้หลายเส้นทางไม่ว่าจะรถเมล์ รถไฟฟ้า BTS หรือแม้กระทั่งเรือด่วนเจ้าพระยาก็ไปได้ ผมไม่แน่ใจว่ารถเมล์สายอะไรผ่านซอยเจริญกรุง 40 เพราะไม่เคยนั่งรถเมล์ไปแถวนั้น ส่วนรถไฟฟ้า BTS เท่าที่ทราบต้องลงสถานีตากสินแล้วเดินย้อนมายังซอยเจริญกรุง 40 แต่ผมใช้บริการเรือด่วนเจ้าพระยาเพราะสะดวกที่สุดสำหรับผมเพราะผมสามารถขึ้นเรือที่ท่าพระราม 7 มาลงยังท่าโอเรียนเต็ล ใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที เพราะเรือด่วนที่จอดที่ท่าโอเรียนเต็ลมีแต่เรือที่ติดธงสีส้มเท่านั้น
                แน่นอนว่าหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯสามารถที่จะบูรณาการได้กับวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนจะสอนในระดับชั้นไหนขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียนว่าจะจัดสอนเนื้อหาที่มีในหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯตอนไหน 




การเรียนรู้ในด้านความรู้
                เอกสารที่อยู่ในหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯส่วนใหญ่เป็นบันทึกของบาทหลวงและคณะมิชชันนารี นอกจากนั้นยังมีเอกสารที่เป็นประวัติของวัดต่างๆในประเทศไทย รวมไปถึงเอกสารและหนังสือที่เกี่ยวข้องกับคาทอลิกในประเทศไทยทั้งหมด เอกสารเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในการสอนวิชาประวัติศาสตร์ได้เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ประวัติศาสตร์ที่เรารู้และศึกษากันอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มาจากการบันทึกของพ่อค้า ทูต บาทหลวง มิชชันนารี บันทึกของเหล่าบาทหลวงและมิชชันนารีในหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯล้วนแต่เป็นข้อมูลที่สามารถนำมาสอนได้ เพราะบาทหลวงเหล่านี้ได้บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ ความเป็นมา การใช้ชีวิตของคนไทย ซึ่งเป็นสิ่งคนไทยไม่นิยมที่จะบันทึกเก็บไว้ (อาจจะมีบันทึกแต่ถูกทำลายไปในช่วงเสียกรุงฯครั้งที่
2) คุณครูก็สามารถที่จะยกเนื้อหาที่อยู่ในบันทึกมาถ่ายทอดและสอนกับนักเรียนซึ่งนอกจากจะได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์แล้วยังได้รู้ทัศนะคติของชาวต่างชาติต่อคนไทยด้วย
การเรียนรู้ในด้านเจตคติ
                การที่เราศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านบันทึกของชาวต่างชาติ ทำให้เราได้รู้ถึงทัศนะของชาวต่างชาติที่มีต่อคนไทย และได้มุมมองของประวัติศาสตร์ที่เป็นกลางมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องปกติที่ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ย่อมที่จะเข้าข้างชาติของตนเอง แต่การที่มีชาวต่างชาติมาบันทึกประวัติศาสตร์นั้น จะทำให้ประวัติศาสตร์เป็นกลางมากยิ่งขึ้นแต่ก็ได้รับทัศนะและมุมมองของชาวต่างชาติเข้ามาด้วย ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมต่างๆของไทย จึงทำให้เขาตีความออกไปในอีกแง่มุม รวมไปถึงชาวต่างชาติคิดว่าตนมีอารยธรรมที่สูงส่งกว่าชาวตะวันออกมากจึงเป็นเรื่องปกติที่เขาจะดูถูกเหยียมหยามนิสัย วัฒนธรรม และศาสนา ซึ่งในบันทึกของเหล่าบาทหลวงและมิชชันนารีก็จะมีส่วนที่กล่าวว่าว่าพิธีต่างๆของศาสนาพุทธเป็นสิ่งที่ไร้สาระ งมงาย ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติเช่นกันที่มุมมองของคนพุทธอาจจะมองว่าพิธีกรรมของคนคริสต์ดูงมงาย จึงแสดงให้เห็นว่าคนเราต่างศาสนา ต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม ต้องรู้จักการปรับตัวเข้าหากัน ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และยอมรับในสิ่งที่แตกต่างของอีกฝ่าย
การเรียนรู้ในด้านกระบวนการต่างๆ
                กระบวนการที่ได้จากการไปหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯก็คือกระบวนสืบค้นข้อมูล แม้จะไม่ได้เป็นผู้สืบค้นข้อมูลโดยตรงแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะค้นคว้าหาเนื้อหาจากบันทึกต่างๆได้ รู้สึกว่ายากกว่าการสืบค้นข้อมูลในห้องสมุดเสียอีก กระบวนการต่อมาคือการทำงานร่วมกับผู้อื่น แม้จะไม่มากและไม่ใช่การทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยตรง แต่การที่จะบอกเอกสารที่เราต้องการให้เจ้าหน้าที่เข้าใจก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเอกสารมีบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงปัจจุบันซึ่งต้องไล่ปีให้ดีๆถึงจะพบข้อมูลที่ต้องการ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานร่วมกันแบบเล็กๆน้อยๆ




                ด้วยความที่ไม่เคยไปละแวกนั้นมาก่อนทำให้หวั่นใจว่าจะไปถูกไหม แต่เมื่อได้สอบถามทางไปจากหลายๆคนแล้วรวมถึงจากเจ้าหน้าที่ของหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯแล้ว เมื่อได้ไปเองก็รู้ว่าไม่ยากเหมือนอย่างที่คิดไว้ เมื่อไปถึงก็เห็นความสวยงามของวิหารอัสสัมชัญที่เป็นแหล่งศูนย์กลางของคาทอลิกในประเทศไทย มีโรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา และอัสสัมชัญคอนแวนต์ เมื่อได้เข้ามาที่นี่ราวกับว่าได้อยู่ในดินแดนของพระเจ้าเลยทีเดียว สภาพของหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯยังคงเป็นไม้อยู่ เมื่อเข้าไปนั่งค้นคว้าในหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯแล้วเหมือนกับได้ตัวเองได้ย้อนกลับไปอยู่ในสมัยเมื่อ
100 ปีที่แล้ว
                หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯถือว่ามีประโยชน์มาก เพราะที่นี่มีบุคคลทั้งที่เป็นนิสิต นักศึกษา อาจารย์ ครู บุคคลทั่วไป และชาวต่างชาติคอยวนเวียนกันมาค้นคว้าเอกสารอยู่ประจำไม่ขาดสาย ที่นี่จึงเป็นแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ และเชื่อว่าอนาคตหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯจะสามารถเปิดให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบเหมือนกับหอสมุดแห่งชาติ เพื่อความสะดวกต่อการค้นคว้าหาข้อมูลมากยิ่งขึ้น


ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : http://haab.catholic.or.th/web/

วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

หนึ่งในผู้เข้าชมนิทรรศการ Techno Showcase ก้าวล้ำนำการศึกษา

          เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ผมได้ไปเข้าชมนิทรรศการ Techno Showcase ก้าวล้ำนำการศึกษา ที่จัด ณ ชั้น 1 ตึกนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.สาโรจน์ บัวศรี หน้างานมีโต๊ะของ U-Store ตั้งอยู่ มีพนักงานของ U-Store 2 คนนั่งประจำการอยู่ที่โต๊ะ คนหนึ่งเป็นสาวสวยอีกคนเป็นสาวหล่อ ส่วนตัวผมเองก็ได้แต่กล้าๆกลัวๆที่จะเข้าไปจนสุดท้ายก็รวบรวมความกล้าเข้าไปหาพี่สาวหล่อจนได้ สาเหตุที่ผมเข้าไปหาเขาเพราะว่า ก่อนที่ผมจะเข้าชมนิทรรศการ โทรศัพท์ของผมดันมีปัญหาเครื่องดับไปเอง จนต้องให้เพื่อนช่วยซึ่งก็ต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งถึงจะใช้งานได้ปกติ ผมจึงเข้าไปถามพนักงานของ U-Store เพื่อสอบถามถึงอาการที่เกิดขึ้นกับโทรศัพท์ของผม จนได้ความว่าเกิดอาการหน่วง เพราะเหลือพื้นที่จัดเก็บในโทรศัพท์น้อย สาวหล่อคิดค่าสอบถามด้วยการให้ผมกด Like เพจ U-Store at Srinakharinwirot University



          เมื่อเสร็จธุระจากซุ้มของ U-Store แล้วผมก็เดินเข้าไปในงาน ต้องบอกตรงๆเลยว่าเป็นนิทรรศการเล็กๆที่ดูไม่วุ่นวายมากจนเกินไป และต้องบอกก่อนเลยว่าผมไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมและเข้าดูซุ้มกิจกรรมครบทุกซุ้ม ผมเลือกที่จะดูแต่ซุ้มที่ผมให้ความสนใจจริงๆเท่านั้น ซุ้มที่ผมเข้าดูคือซุ้ม Tech for Teach เป็นซุ้มสอนผลิตสื่อการสอน ซึ่งน่าจะตรงกับวิชาเอกที่ผมเรียนมากที่สุด (ผมเรียนวิชาเอก สังคมศึกษา กศ.บ. 5 ปี) เป็นซุ้มที่มีประโยชน์สำหรับผู้ที่เรียนครูอย่างผมมากๆ และยังมีรายการโทรทัศน์ครูที่เป็นช่องที่มีประโยชน์ต่อคุณครูทุกๆคนมาก แม้โดยส่วนตัวอาจจะเคยดูผ่านๆเพียงไม่กี่ครั้งแต่ต้องยอมรับจริงๆว่าเป็นรายการที่คนที่เป็นครูควรจะดู ซึ่งถ้ามีโอกาสผมเองก็จะไปดูเหมือนกัน ซุ้มต่อมาคือซุ้ม Around The World เป็นซุ้มที่เกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตและ Social Network ต่างๆเช่น Facebook Blog Google twitter และอื่นๆที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการเรียนรู้ในปัจจุบันได้ ซุ้มสุดท้ายคือซุ้ม Away So Far ซึ่งก็เป็นอีกซุ้มที่เหมาะสำหรับนิสิตครู เกี่ยวกับโทรทัศน์ดาวเทียม ซึ่งนิยมใช้ในการศึกษาผ่านดาวเทียมไปยังพื้นที่ๆห่างไกลและโรงเรียนวังไกลกังวลและที่น่าสนใจอีกกิจกรรมคือกิจกรรมบนเวทีข้างหน้าที่มีการแข่งขันตอบคำถาม โดยมีผู้เข้าแข่งขัน 10 คน โดยที่พิธีกรเป็นผู้ถามคำถาม โดยคำถามก็มาจากความรู้จากซุ้มต่างๆ เวลาจะตอบคำถามก็จะกดปุ่มที่คล้ายๆกับรีโมท (ที่เวลากดไปแล้วคำตอบจะไปขึ้นที่หน้าจอโทรทัศน์เพื่อแจ้งว่ามีผู้ตอบคำถามกี่คนแล้ว ซึ่งจากเท่าที่เห็นแล้วเป็นกิจกรรมที่น่าเล่นมากแต่เสียดายที่ไม่ได้เข้าไปร่วมกิจกรรม






          นิทรรศการ Techno Showcase ก้าวล้ำนำการศึกษาถือว่าเป็นนิทรรศการที่มีประโยชน์มากๆ ไม่ใช่มีประโยชน์แต่เฉพาะผู้เรียนทางด้านเทคโนโลยีหรือผู้เรียนครูเท่านั้น แต่เป็นประโยชน์ต่อคนทุกๆสาขาวิชาชีพ เพราะปัจจุบันนี้ชีวิตเราเกือบ 100 % จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาและอยู่กับเทคโนโลยี และเทคโนโลยีก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ขาดไปไม่ได้เสียแล้ว การรู้เท่าทัน การรู้จักใช้เทคโนโลยีให้ถูกต้องและนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจึงเป็นเรื่องที่เราทุกๆคนควรที่จะให้ความสนใจมากกว่าที่จะใช้เพียงเพราะมันทันสมัยเพียงอย่างเดียว 

วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ยุคไซเบอร์กับอาชญากรรมและการป้องกัน

                มนุษย์ในยุคปัจจุบันอาศัยอยู่ในโลกสองใบ ใบแรกเป็นโลกของความเป็นจริง ทุกคนมีหน้าที่ของตน ตื่นเช้า ทำงาน เรียนหนังสือ กลับบ้าน อยู่กับครอบครัว เข้านอน ส่วนโลกอีกใบเป็นโลกไซเบอร์ เป็นโลกที่ดึงเอาตัวตนที่เราซ่อนอยู่ภายในแสดงออกมาผ่านทางโลกไซเบอร์ คนบางคนในโลกของความเป็นจริง เป็นคนเงียบๆ เรียบร้อย สุภาพ แต่ในโลกไซเบอร์อาจจะเถื่อน ถ่อย ไร้มารยาทก็เป็นไปได้ โลกไซเบอร์จึงเปรียบเสมือนเครื่องมือที่ดึงตัวตนที่แท้จริงภายในของเราให้แสดงออกมาภายในโลกไซเบอร์ซึ่งอาจจะกระทบต่อชีวิตในโลกของความเป็นจริงก็ได้


                
ถ้าโลกไซเบอร์เหมือนกับโลกอีกใบหนึ่ง สิ่งที่มีในโลกของความเป็นจริงก็มีอยู่ในโลกไซเบอร์ แม้กระทั่งการก่ออาชญากรรมไซเบอร์ ที่ยิ่งวันยิ่งมีความซับซ้อนและรุนแรงมากยิ่งขึ้น คำถามคือ..เมื่อมีผู้ร้ายแล้วมีตำรวจไซเบอร์ที่คอยจัดการปัญหาอาชญากรรมในโลกไซเบอร์หรือไม่? คำตอบคือ..มีครับ




              







                
                “บริษัท เทรนด์ ไมโคร อิงค์ ผู้นำระดับโลกด้านซอฟต์แวร์และโซลูชั่นรักษาความปลอดภัย ประกาศความร่วมมือกับองค์การตำรวจสากล (INTERPOL) ในการสนับสนุนโครงการบังคับใช้กฎหมายทั่วโลกเพื่อต่อต้านอาชญากรรมไซเบอร์ เนื่องจากความซับซ้อนของภัยคุกคามทางไซเบอร์ การสืบสวนคดีอาชญากรรมทางไซเบอร์จึงแตกต่างจากการก่ออาชญากรรมดั้งเดิมอย่างมาก จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคระดับสูงและต้องอาศัยการสืบสวนข้ามเขตอำนาจรัฐขนาดใหญ่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่การบังคับใช้กฎหมายจะต้องสามารถจัดลำดับความสำคัญของทรัพยากรที่มีอยู่ สร้างความร่วมมือระหว่างเขตอำนาจรัฐและภาคส่วนต่างๆ นอกเหนือไปจากการพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค เครื่องมือ และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการต่อสู้กับภัยคุกคามได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในท้ายที่สุดต้องสามารถยกระดับความปลอดภัยทางดิจิทัลได้อีกด้วย นอกจากนั้น องค์การตำรวจสากล (INTERPOL) จึงเดินหน้าจัดตั้ง INTERPOL Global Complex for Innovation (IGCI) ในประเทศสิงคโปร์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2557 ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านอาชญากรรมไซเบอร์เพื่ออำนวยความสะดวกในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยไอจีซีไอจะแสวงหาความร่วมมือจากพันธมิตร ซึ่งรวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตจากภาคเอกชน เพื่อเสริมสร้างความเชี่ยวชาญให้กับกำลังพล หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลก ที่มีหน้าที่ต่อสู้กับอาชญากรรมไซเบอร์โดยตรง และเทรนด์ ไมโคร จะเตรียมโปรแกรมฝึกอบรมสำหรับองค์การตำรวจสากล หน่วยงานภาครัฐ สำนักงานตำรวจในประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมรวมถึงบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่มีหน้าที่บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการจัดการกับอาชญากรรมทางดิจิทัลโฉมใหม่ทั้งในระดับชาติ และระหว่างประเทศโดยการฝึกอบรมจะครอบคลุมถึงอีเลิร์นนิ่ง และการฝึกอบรมในห้องเรียน การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและการให้ใบรับรองสำหรับผู้เชี่ยวชาญตามเป้าหมายโดยรวมและวัตถุประสงค์ด้านการเรียนรู้โดยเฉพาะ”




               
จากเนื้อหาของข่าวทำให้เราเห็นว่าผู้คนเริ่มใส่ใจกับการจัดความเรียบร้อยและดูแลรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์มากยิ่งขึ้น เดิมทีก็มีการป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์แต่ก็อาจจะไม่ได้เป็นข่าวหรือได้รับความสนใจมากเท่าไหร่ แต่ในเมื่อยิ่งวันอาชญากรรมเหล่านี้ยิ่งมีมากขึ้นและยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นไปทุกที การร่วมมือระหว่างบริษัท ด้านซอฟต์แวร์และโซลูชั่นรักษาความปลอดภัย และองค์การตำรวจสากล จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทุกๆคนไม่มากก็น้อย


                
จากประสบการณ์ตรงผมใช้โปรแกรมป้องกันไวรัสของ เทรนด์ ไมโครอยู่ซึ่งต้องขอบอกต่อเลยว่าค่อนข้างดีจริงๆ ผมจึงคิดว่าการที่เทรนด์ ไมโครประกาศร่วมมือกับตำรวจสากลเพื่อต่อต้านอาชญากรรมไซเบอร์เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเอาจริงต่อเหล่าอาชญากรทั้งหลายที่ยิ่งวันยิ่งมีมากขึ้นและการกระทำก็ยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้นด้วย ตรงกับวิสัยทัศน์ของเทรนด์ไมโครที่ว่า โลกที่ปลอดภัยสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัล” (A World Safe for Exchanging Digital Information)
               
ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องใส่ใจกับปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว เพราะถ้าคนส่วนใหญ่เมินเฉยต่ออาชญากรรมเหล่านี้ อนาคตโลกไซเบอร์อาจจะกลายเป็นหลุมดำแห่งความชั่วร้ายที่พร้อมจะดูดเราเข้าไปในนั้นได้ทุกเมื่อ แล้วใครกันเล่าที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็คือเยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาตินั่นเอง






ขอบคุณเนื้อหาของข่าวจาก http://www.dailynews.co.th/technology/219379

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ว่าด้วยเรื่องของแฮกเกอร์

          สิ่งที่ผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตกลัวมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นไวรัส โทรจัน วอร์ม และเหล่าบรรดาแฮกเกอร์ เพราะสี่อย่างที่ได้กล่าวไปถือว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของผู้ใช้คอมพิวเตอร์เลยทีเดียว สำหรับส่วนตัวผมแล้วถามว่าผมกลัวกับเจ้าตัวไหนในสามตัวนี้มากที่สุดก็คงจะเป็นเจ้าแฮกเกอร์ (Hacker) นี่แหละครับ แต่ถ้าเราจะเหมารวมว่าแฮกเกอร์คือผู้ร้ายที่คอยเจาะระบบข้อมูลเพื่อขโมยข้อมูลของผู้อื่นเพียงอย่างเดียวก็คงจะไม่ถูกเสียเท่าไหร่ เพราะคำว่า Hacker ยังหมายถึง Security Professional ผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยของระบบข้อมูล เพื่อป้องกันผู้ที่ไม่หวังดีเข้ามาทำลายระบบหรือขโมยข้อมูล เราเรียกแฮกเกอร์เหล่านี้ว่า White Hat Hacker ส่วนพวกแฮกเกอร์ตัวร้ายที่คอยแต่เจาะระบบข้อมูลผู้อื่นเราเรียกว่า Black Hat Hacker ซึ่งหัวข้อที่จะกล่าวต่อไปนี้จะพูดถึง Black Hat Hacker และจะขอเรียกว่า ‘แฮกเกอร์’ เพื่อง่ายต่อการพิมพ์และสะดวกต่อการเข้าใจ     


          ถ้าพูดถึงแฮกเกอร์คนส่วนใหญ่ก็มักจะนึกถึงบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เจาะระบบเข้ามาขโมยข้อมูลที่สำคัญและข้อมูลส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นทั้งขององค์กร ราชการ หรือส่วนบุคคลก็ตาม หรือเรียกง่ายๆว่าโดนกันถ้วนหน้า แฮกเกอร์จึงเปรียบเสมือนกับโจรผู้ร้ายที่มาขโมยของๆเรา เพียงแต่เขาไม่ได้เข้ามาหาเราให้เห็นเป็นตัวคนหรือถืออาวุธที่เป็นมีดหรือปืนมาข่มขู่เรา แต่แฮกเกอร์มีคอมพิวเตอร์เป็นอาวุธ มีเม้าส์เป็นลั่นไกปืน มีคีย์บอร์ดเป็นชนวนระเบิดและเปรียบเสมือนสิ่งไร้ตัวตนที่สามารถสร้างความเสียหายได้มากกว่าโจรที่เป็นคนจริงๆด้วยซ้ำในบางครั้ง ไม่รู้ตัว ไม่มีสัญญาณบ่งบอก และยากที่จะป้องกัน ขนาดหน่วยงานของรัฐบาลที่เราคิดว่าน่าจะมีระบบรักษาความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ที่สูงและดีกว่าคอมพิวเตอร์บ้านๆอย่างเรายังโดนไปกับเขาด้วยเลย



          และรายล่าสุดที่เพิ่งเป็นข่าวไปคือเว็บไซต์ของสำนักนายกรัฐมนตรี ห๊ะอะไรนะ! เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรีเลยนะครับท่าน…!! ความคิดแวบแรกของผมคาดว่าคงไม่ต่างจากคนอื่นๆสักเท่าไหร่ที่ว่าทำไมเว็บไซต์ระดับของสำนักนายกรัฐมนตรีถึงถูกแฮกได้อย่างง่ายดาย ตามรายงานของข่าวเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรีในส่วนหน้าของรายชื่อคณะรัฐมนตรีได้ถูกแฮกเกอร์ในนาม Unlimited Hack Team!!! ทำการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็น I'm a slutty moron. พร้อมระบุข้อความด้านล่างรูป น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า I know that I am the worst Prime Minister ever in Thailand history!!! ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า ฉันรู้ว่าฉันคือนายกรัฐมนตรีที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย!!! และเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นบุคคลที่ต้องออกมาเป็นคนแรกคงจะหนีไม่พ้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลโดยตรงจึงรีบสั่งการให้ตรวจสอบหาผู้กระทำผิดโดยทันที แต่ไม่สามารถที่จะปิดเว็บไซต์ได้เพราะต้องเป็นอำนาจจากศาลเท่านั้น




          ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกประเทศเพราะระบบของคอมพิวเตอร์ไม่ได้ป้องกันได้ 100% เสมอไป ไม่ว่าทั้ง Microsoft, Steam (โปรแกรมขายซอร์ฟแวร์เกมในรูปแบบดิจิตัล) ต่างก็เคยถูกแฮกกันถ้วนหน้า แต่แตกต่างกันที่จุดประสงค์ของการถูกแฮกเท่านั้นเอง สำหรับคนที่ชอบรัฐบาลก็ต้องการให้ตำรวจจับผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ ส่วนฝ่ายที่ไม่ชอบรัฐบาลคงจะสมน้ำหน้า สะใจ และขอให้ตำรวจไม่สามารถตามจับผู้ร้ายได้ แต่เมื่อพูดถึงหลักความจริงและความถูกต้องแล้ว การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นความผิดในข้อหาว่าร้ายผู้อื่นและหมิ่นประมาท และมีความผิดตามพระราชบัญญัติการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และบุคคลที่ถูกหมิ่นประมาทก็เป็นถึงนายกรัฐมนตรีเสียด้วยจึงถือได้ว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยอย่างชัดเจน เพราะเราไม่ทราบว่าภาพของเว็บไซต์ได้ถูกส่งผ่านไปยังสายตาของชาวต่างประเทศบ้างหรือเปล่าแต่ผมคิดว่าไปถึงอย่างแน่นอน เพราะเป็นถึงข่าวใหญ่ในบ้านเรามีหรือที่ต่างประเทศจะไม่รู้
          เป็นการยากที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก แต่ผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ของเว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารควรที่จะหาแนวทางในการป้องกันให้ดีกว่านี้ เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงระบบรักษาความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรืออาจเพราะความชะล่าใจมากเกินไปของผู้ดูแลระบบจึงทำให้เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ขึ้น แต่เชื่อว่าหลังจากนี้เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลระบบและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารคงจะใส่ใจและเอาจริงมากยิ่งขึ้น เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกคงจะเดือดร้อนทั้งกระทรวงอย่างแน่นอน แต่ข้อสังเกตที่ผมสังเกตได้จากเหตุการณ์ครั้งนี้คือ ผู้ที่มีความสามารถมักจะไม่ทำงานกับองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมายสักเท่าไหร่นัก ทำไมผมถึงพูดแบบนี้ แม้จะไม่ถูกต้องไปทั้งหมด แต่ถ้าเราลองนึกและสังเกตดูจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ คนเก่งๆหลายคนเลือกที่จะทำผิดเพราะได้ผลตอบแทนที่มากกว่าและมีความอิสระไม่ขึ้นตรงต่อใคร แต่ก็ใช่ว่าคนเก่งจะไม่ทำงานดีๆเลยก็ไม่ใช่ แต่มันเป็นข้อให้เราสังเกตว่าเพราะเหตุใดกันคนเก่งถึงเลือกที่จะทำตามดังที่ใจตนต้องการซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นไปทางในที่ผิดเสียด้วย เช่นเดียวกันกับแฮกเกอร์จำนวนมากที่เลือกจะเป็น Black Hat Hacker มากกว่า White Hat Hacker



           แต่เรื่องของการแฮกไม่ใช่เรื่องเล็กๆเสียแล้วในตอนนี้ เพราะพี่เบิ้มอย่างสหรัฐอเมริกาและมังกรผงาดอย่างจีนก็กำลังมีปัญหาเพราะเรื่องการแฮกข้อมูลกัน ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าประเทศตนถูกฝ่ายตรงข้ามแฮกข้อมูล ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่แค่สองประเทศนี้ที่มีการแฮกแต่ทุกประเทศทั่วโลกใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการสอดแนมและขโมยข้อมูลสำคัญ แต่ที่ยิ่งกว่านั้นคือชาวอเมริกันส่วนใหญ่รับได้กับการแฮกข้อมูลของรัฐบาลเพราะถือว่าเป็นการป้องกันเหตุการณ์ความไม่สงบและการก่อการร้าย ทั้งๆที่การแฮกควรจะได้รับการต่อต้านมากกว่าการสนับสนุน แล้วแบบนี้แฮกเกอร์จะตกงานได้อย่างไรกัน




ขอบคุณที่มาของข่าวและรูปภาพประกอบข่าว
http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9560000055161
และขอบคุณเนื้อหาเกี่ยวกับแฮกเกอร์
http://www.mindphp.com/%E0%B8%84%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD/73%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/2099-hacker-

วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การสัมภาษณ์บุคคลที่ไม่รู้จัก

                


               บ่ายวันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 2013 อากาศค่อนข้างที่จะอบอ้าว ฝนทำท่าจะตก ผมรีบเดินทางอย่างเร่งรีบเพื่อให้ทันก่อนฝนที่กำลังจะตกลงมา เพราะวันนี้ผมมีนัดกับชายคนหนึ่งที่ผมไม่รู้จักเขามาก่อน แต่อะไรกันเล่าดลใจให้ผมตอบตกลงว่าผมจะมาสัมภาษณ์ที่บ้านของเขา นั่นคือสิ่งที่ผมยังคงคิดทบทวนอยู่ในหัวของผมตลอดเวลาที่ผมเดินทางมา ผมมายืนอยู่หน้าบ้านของเขา ผมมองกระดาษที่จดบ้านเลขที่ซึ่งก็ตรงกับบ้านที่ผมยืนอยู่ข้างหน้า ผมลังเลที่จะกดกริ่ง แต่ในที่สุดผมก็กดกริ่งจนได้
                “สวัสดีครับ เชิญเข้ามาข้างในก่อนครับชายเจ้าของบ้านเปิดประตูออกมาพร้อมรอยยิ้ม เขาผายมือให้ผมเดินเข้าไปในบ้าน ผมยิ้มและพยักหน้าให้เขาและเดินเข้าไปในบ้านของเขา เชิญนั่งก่อนเลยครับ เดี๋ยวผมไปเอาน้ำมาให้
                “ขอบคุณครับผมตอบ
                “นี่ครับน้ำเขาวางแก้วน้ำไว้ที่โต๊ะข้างหน้าที่ผมนั่ง ส่วนตัวเขานั่งลงที่เก้าอี้ตรงข้ามกับผม ขอบคุณมากครับ ที่คุณมาสัมภาษณ์ผม ผมรู้สึกเป็นเกียรติมากๆเลยครับ” 
                ผมยิ้มตอบให้เขา แต่ภายในใจของผมยังคงมีคำถามที่ว่า ทำไมผมต้องมาสัมภาษณ์ชายคนนี้และเขาเป็นใครกัน แต่หน้าที่ก็ต้องเป็นหน้าที่ การสัมภาษณ์บุคคลที่ไม่รู้จักกำลังจะเริ่มขึ้น
                “พร้อมที่จะสัมภาษณ์แล้วใช่ไหมครับผมถามเขาพร้อมกับหยิบเครื่องบันทึกเสียงขึ้นมาวางที่โต๊ะข้างหน้า
                “ผมพร้อมแล้วครับ” 




Q : อันดับแรกแนะนำตัวก่อนเลยครับ
A : สวัสดีครับ ผมชื่อ ภวินท์ ชินทร์นลัย ชื่อเล่นว่า ‘ฟิกซ์’ แปลว่าประจำครับ ชื่อเต็มๆของผมคือ 
เปโตร ภวินท์ ชินทร์นลัย ครอบครัวผมเป็นคาทอลิกยกเว้นคุณแม่ที่เป็นพุทธครับ ผมเข้ารับศีลล้างบาปที่วัดนักบุญ ฟรังซิสเซเวียร์ ที่สามเสน ชาวคาทอลิกต้องมีนักบุญประจำตัวทุกคน คุณพ่อเลยเลือกนักบุญเปโตร ซึ่งเป็นสาวกคนสำคัญของพระเยซูและเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกของศาสนจักรโรมันคาทอลิกด้วยครับ



Q : ชื่อ ภวินท์ แปลว่าอะไรครับ ?
A : แปลว่าเจ้าแห่งภพเป็นใหญ่ในโลกครับ แต่ก่อนที่ผมจะชื่อภวินท์ ผมมีชื่อเก่าว่า กฤษณะ แต่ด้วยความที่ว่าผมเกิดวันอาทิตย์ คนที่เกิดวันอาทิตย์เขาห้ามมีตัวอักษร " ศ ษ ส ห ฬ ฮ " อยู่ในชื่อ เพราะเขาถือว่าเป็นกาลกิณี ประกอบกับเป็นคาทอลิกแต่ชื่อ กฤษณะ เป็นเทพของศาสนาฮินดู คงจะแปลกๆสำหรับคนอื่นๆ เลยเปลี่ยนชื่อตอนผมอยู่อนุบาล 3 ครับ
Q : แล้วการศึกษาละครับ ?
A : ผมเข้าศึกษาที่โรงเรียนโยนออฟอาร์ค ตั้งแต่อนุบาล 1 ถึง ประถมศึกษาปีที่ 6 ครับ ก่อนจะย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนวิมุตยารามพิทยากรตอนมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 และย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนโยธินบูรณะตอนมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 และปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะสังคมศาสตร์ วิชาเอกสังคมศึกษา (กศ.บ. 5 ปี) หรือครูสังคมนั่นเองครับ
Q : ทำไมถึงอยากเป็นครูละครับ ?
A : ผมเป็นคนที่ชอบวิชาประวัติศาสตร์มาตั้งแต่เด็กๆแล้ว เป็นเพราะคุณพ่อชอบเช่าวีดีโอหนังฝรั่งมาดู ตอนนั้นผมยังเด็กอยู่ก็ไปนั่งดูด้วยบ้างไม่ได้ดูบ้าง แต่มีบางเรื่องที่ดูแล้วรู้สึกชอบเป็นพิเศษ นั่นคือหนังแนวสงคราม ผมชอบที่จะดูฉากสงครามที่อัศวินใส่ชุดเกราะเข้าตะลุมบอนกัน ชอบฉากทหารยุคใหม่ยืนแถวหน้ากระดานยิงปืนใส่กัน หรือแม้แต่ฉากการยกพลขึ้นบกของทหารอเมริกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพเหล่านี้ติดตาและตรึงใจผมมาก ทำให้ผมเริ่มที่จะชอบดูหนังและอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ รวมไปถึงเกมแนวประวัติศาสตร์ด้วยครับ





Q : ดูเหมือนว่าคุณจะชอบทางด้านประวัติศาสตร์มากกว่าด้านครู ?
A : ใช่ครับ ด้วยความที่ผมชอบประวัติศาสตร์ผมจึงอยากเรียนต่อทางด้านโบราณคดี แต่หลังจากที่ผมไปศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลมาพอสมควรผมจึงล้มเลิกความคิดที่จะเรียนต่อด้านโบราณคดีเพราะเหตุผลทางด้านการหางานครับ
Q : แล้วทำไมถึงเริ่มสนใจเรียนครูละครับ ?
A : ตอนผมอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนได้จัดงานอำลาอาลัยให้กับคุณครูที่เกษียณอายุราชการ ภาพที่ทุกๆคนเห็นคือคุณครูที่กำลังกล่าวโอวาทและคำอำลาให้กับนักเรียน แต่ภาพที่ผมเห็นคือตัวผมเองตอนเกษียณกำลังยืนกล่าวโอวาทและคำอำลาอยู่บนเวที นั่นคือสาเหตุที่ผมเลือกที่จะเรียนครูครับ
Q : มันดูไม่ง่ายไปหน่อยหรือครับ ?
A : ผมก็ว่าแบบนั้นเหมือนกันนะครับ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตที่ดูง่ายมาก แต่ที่จริงแล้วเวลาที่ผมอยู่บ้าน ผมก็สอนการบ้านให้น้องสาวนะครับ และผมเป็นคนที่ชอบเด็กด้วย เวลาผมอยู่กับเด็กๆแล้วผมรู้สึกว่า ผมมีความสุข เพราะเด็กไม่เคยใส่หน้ากากเข้าหาผมเลย และมีอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญมากๆเลย
Q : เหตุผลที่ว่าคืออะไรครับ ?
A : ผมอยากรับราชการครับ เพราะในครอบครัวของผมยังไม่มีใครรับราชการเลย ผมอยากเป็นข้าราชการมีเงินเดือนที่มั่นคง มีสวัสดิการให้พ่อแม่  ผมเป็นพี่คนโตของบ้านผมต้องรับหน้าที่หัวหน้าครอบครัวต่อจากพ่อ เพราะฉะนั้นผมจึงอยากรับราชการเพื่อเป็นเสาหลักของความมั่นคงให้กับครอบครัวครับ
Q : เพราะเหตุนี้คุณถึงอยากที่จะเรียนโบราณคดีและเรียนครูเพราะเหตุผลที่ว่าทั้งสองด้านนี้จบมาสามารถเป็นข้าราชการได้ ?
A : ใช่ครับ เหตุผลที่ผมเลือกเรียนครูก็เพราะผมอยากเป็นข้าราชการด้วย แต่อย่างที่ผมได้บอกไปตั้งแต่แรกแล้วว่า ผมชอบประวัติศาสตร์ แล้วมีทางใดบ้างที่ผมจะสามารถอยู่กับประวัติศาสตร์ได้ ด้านอื่นๆผมก็ไม่เก่ง เพราะฉะนั้นครูสังคมคือคำตอบครับ เพราะครูสังคมสอนถึง 5 สาระ และหนึ่งในนั้นคือประวัติศาสตร์
Q : แล้วสาระอื่นๆที่เหลือคุณสามารถที่จะเรียนและนำไปสอนได้ใช่ไหมครับ ?
A : ได้ครับ แม้ว่าบางสาระผมอาจจะไม่ถนัดมากเช่น วิชาพุทธศาสนา แต่ผมก็ต้องพยายามเต็มที่ครับ ในเมื่อผมเลือกที่จะเดินมาทางด้านนี้แล้ว 
Q : เท่ากับว่าทุกวันนี้คุณทำฝันสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว ?
A : ใช่ครับ แต่ผมไม่แน่ใจว่าฝันของผมไปถึงครึ่งทางแล้วหรือยัง เพราะผมยังไม่ได้สอบบรรจุเป็นข้าราชการ ยังไม่ได้แต่งงานมีครอบครัวเลยครับ 
Q : คิดไปไกลถึงตอนมีครอบครัวเลยหรอครับ ?
A : มันก็ต้องมีกันบ้างนะครับ ทุกๆคนก็ต้องฝันที่จะอยากมีครอบครัวเป็นอย่างไรในอนาคต อย่างผมก็ฝันไว้ว่าอยากได้ภรรยาที่เป็นแม่ศรีเรือนนะครับ คำว่าแม่ศรีเรือนในความหมายของผมไม่ใช่นั่งพับเพียบเรียบร้อยเหมือนสมัยก่อน แต่คือทำอาหารเป็น ทำงานบ้านได้ครับ มีวิธีเลี้ยงลูกที่ดี สอนให้ลูกของผมเป็นเด็กที่ดีและเก่งได้ ผมอยากให้ภรรยาผมเป็นแม่บ้าน ส่วนผมเองยอมเหนื่อยทำงานนอกบ้านครับ แต่สังคมสมัยนี้มันเปลี่ยนไป ต้องช่วยกันทำงานทั้งสองคนครับ ไม่อย่างนั้นเงินไม่พอใช้




Q : แล้วเกี่ยวกับการเป็นคุณครูละครับ ?
A : คนเราสมัยนี้ต้องเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง เพราะฉะนั้นแล้วผมตั้งใจที่จะสอนคุณธรรมควบคู่ไปกับความรู้ เพื่อสร้างผู้ใหญ่ในอนาคตที่เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง ผู้ใหญ่ในทุกวันนี้ก็โกงกินกันมามากพอแล้ว ผมอยากจะทำให้มันหมดไป แต่ก็คงเป็นเรื่องยาก เพราะทุกวันนี้แม้แต่ข้าราชการทุกสังกัดทุกหน่วยงานเองก็ยังโกงกันอยู่เลย แล้วนับประสาอะไรกับคนอื่นๆ แต่ผมก็ตั้งใจว่าอย่างน้อยขอให้เด็กที่เป็นลูกศิษย์ผมเป็นคนดีของสังคมก็พอแล้วครับ
Q : สุดท้ายครับ คุณใช้คติอะไรในการดำเนินชีวิตครับ ?
A : คติที่ผมใช้ เป็นคติเดียวกันกับที่คุณพ่อผมใช้ และคุณพ่อผมก็รับมาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกทีว่า "
ไม่มีใครอื่นที่ไหนจะช่วยเราได้ นอกจากตัวเราเอง"
   
                   ผมปิดเครื่องบันทึกเสียงและกล่าวขอบคุณกับเขาที่ให้ความร่วมมือในการสัมภาษณ์ครั้งนี้เป็นอย่างดี และในที่สุดผมรวบรวมความกล้าที่จะถามเขาว่า
                   "ทำไมคุณถึงติดต่อให้ผมมาสัมภาษณ์คุณครับ ทั้งๆที่คุณและผมก็ไม่เคยรู้จักกันก่อน"
                   "เพราะผมต้องส่งงานวิชา ED 381 ของอาจารย์ นัทธีรัตน์ พีระพันธุ์ ครับ"
                   " ???? "